อาการนิ้วล็อคมักมีอาการปวดที่โคนนิ้ว อาจมีอาการสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ หากเป็นมากอาจทำให้งอหรือเหยียดเองไม่ได้ต้องใช้มืออีกข้างง้างออก
สาเหตุเกิดจากการอักเสบ หรือการหนาตัวของเอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือจากการใช้งานมือหนัก หรือต่อเนื่องนาน ๆ เป็นประจำ เช่น พนักงานออฟฟิต ช่างทำผม แม่บ้าน ช่างไม้ เป็นต้น
ความรุนแรงของนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ แต่ยังไม่มีอาการล็อคหรือสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว
ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้วแต่ยังสามารถงอหรือเหยียดนิ้วได้เอง
ระยะที่ 3 มีอาการสะดุดหรือล็อคมากขึ้นโดยบางครั้งต้องใช้มือช่วยง้างนิ้วออก
ระยะที่ 4 มีอาการล็อคและติดมากจนนิ้วที่ล็อคติดในท่างอ ไม่สามารถเหยียดได้ตรง
การพยากรณ์โรคที่ไม่ดีและมีแนวโน้มต้องรักษาด้วยการตัดปลอกหุ้มเอ็น ได้แก่ การที่ผู้ป่วยมีอาการนิ้วล็อคหลายนิ้ว, มีอาการมานาน เกิน 4-6 เดือน, เอ็นหนาตัวจนคล้ำเป็นก้อนแข็งได้ และมีอาการล็อคหรือสะดุดให้เห็นแบบชัดเจน
การดูแลรักษาขึ้นกับระยะความรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้งานนิ้วหรือมือหนัก เช่นการใช้นิ้วหิ้วของหนัก การกำมือแน่นบิดผ้า เป็นต้น หากจำเป็นควรพักเป็นระยะ
- แช่น้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที
- ใช้ที่ดามนิ้วเพื่อเป็นการพักการใช้งาน
- การปรับ ดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้บ่อย ๆ ให้มีด้ามจับที่หนาขึ้นเพื่อลดการใช้แรงกดที่นิ้วมือเช่น การพันด้ามเข็มควักให้หนาขึ้นในการถักไหมพรมเพื่อใช้แรงบีบมือที่น้อยลง เป็นต้น
- การออกกำลังโดยการบริหารเส้นเอ็น
- เลี่ยงการออกกำลังโดยการบีบมือ กำมือแน่น การกดนวดบริเวณโคนนิ้วแรง ๆ
- ลดการอักเสบโดยการ ทานยา, การฉีดยาสเตอร์รอยด์บริเวณปลอกหุ้มเอ็น แต่มีข้อจำกัดคือสามารถกลับมาเป็นอีกได้หากยังใช้งานหนักอยู่ และการฉีดยาไม่ควรเกิน 2-3 ครั้งต่อจุดเนื่องจากจะทำให้เอ็นอ่อนแอ นิ่ม และมีโอกาสขาดได้
- การลดปวดด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัด เช่น อัลตร้าซาวด์ลดปวด
- การตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวออก ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
การรักษาด้วยการตัดปลอกหุ้มเอ็น
ปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผล และแบบเจาะเพื่อไปสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก
เทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการตัดปลอกหุ้มเอ็นแบบเจาะในปัจจุบันคือการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำเพื่อใช้เข็มในการสะกิดตัดปลอกหุ้มเอ็น (Ultrasound guide trigger finger release) โดยระหว่างทำสามารถเห็นปลอกหุ้มเอ็นได้อย่างชัดเจน สามารถตัดได้หมด เห็นเส้นเลือด เส้นประสาท ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อที่ไม่เกี่ยวข้องได้
โดยข้อดีของการตัดปลอกหุ้มเอ็นแบบเจาะคือ
- ไม่มีแผลเย็บ ขนาดแผลเท่ารอยเข็มบริจาคเลือด สามารถโดนน้ำได้ใน 24 ชั่วโมง
- ระยะเวลาพักฟื้นสั้น สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้หลังทำ แต่ยังไม่ควรใช้งานหนัก
- สามารถใช้งานมือได้ปกติใน 1-2 สัปดาห์
- โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยมาก แต่อาจมีอาการที่นิ้วอื่น หากยังมีการใช้งานมือที่หนักและนาน อยู่เป็นประจำ
สบายดีคลินิกเวชกรรมมีบริการให้การรักษาดูแลเกี่ยวกับโรคนิ้วล็อค คือ
- การรักษาด้วยยา
- การใช้อัลตราซาวด์เพื่อทำการตรวจประเมินและวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ 800 บาท
- การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ทางกายภาพลดปวด 200 บาทต่อจุด
- การฉีดยาสเตอร์รอยด์ลดอักเสบปลอกหุ้มเอ็นโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำฉีด (Ultrasound guide steroid injection) 1,600 บาทต่อจุด
- สะกิดปลอกหุ้มเอ็นรักษานิ้วล็อคโดยมองผ่านเครื่องอัลตราซาวด์ 4,800 บาทต่อนิ้ว
การฉีดยารักษาข้อเข่าเสื่อม
การรักษาข้อเข่าเสื่อมมีหลายวิธี เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อ, กายภาพบำบัดลดปวด, การทานยา, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เป็นต้น หนี่งในวิธีที่นิยมในการรักษาข้อเข่าเสื่อมคือการฉีดยารักษา บทความนี้รวบรวมข้อมูล ความรู้ ในการฉีดยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมบางวิธีที่นิยมใช้ เพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจในการตัดสินใจพิจารณารับการรักษาต่อไป
- การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าเทียม
ในภาวะปกติ น้ำไขข้อที่หล่อเลี้ยงข้อเข่าจะถูกสร้างจากเนื้อเยื่อหุ้มข้อ ทำหน้าที่ช่วยหล่อลื่นให้กระดูกเคลื่อนไหวได้ราบรื่น ลดแรงกระแทกระหว่างกระดูก แต่ในผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ร่างกายสร้างน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะมีความเข้มข้นและความยืดหยุ่นลดน้อยลง กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการปวด อักเสบภายในข้อ และเคลื่อนไหวไม่สะดวก
น้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เป็นสารสกัดของ Hyaluronic Acid (HA) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำเลี้ยงข้อปกติ จึงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในเนื้อเยื่อของร่างกาย การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ลดการอักเสบทำให้อาการปวดข้อลดลง กระตุ้นเยื้อหุ้มข้อให้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อเข่าจริง และอาจช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าออกไปได้
โดยสามารถแบ่งประเภทของน้ำหล่อลื่นผิวข้อได้เป็น 2 แบบ คือ
– แบบโมเลกุลเล็ก จะทำการฉีดยาเข้าข้อเข่าที่มีอาการปวดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์
– แบบโมเลกุลใหญ่ จะทำการฉีดยาเข้าข้อเข่าที่มีอาการ โดยฉีดเพียง 1 ครั้ง
ก่อนการฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยรายได้ควรได้รับการฉีดยาโดยดูจาก
- กลุ่มข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น-ปานกลาง
- ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบใช้ยา แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ผู้ที่แพทย์พิจารณาว่าควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแล้วแต่ยังอยากรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไปก่อน
- กรณีที่เข่าบวมมีน้ำในข้อเข่าจากการอักเสบแพทย์จะทำการดูดน้ำออกจากข้อเข่าก่อนทำการฉีดน้ำหล่อลื่นข้อเข่าเทียมเข้าไป
- โดยการฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาประมาณ 6 เดือน – 1 ปี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ข้อเข่า ความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษา
หลังฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการเดินมากๆ ประมาณ 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการปวด บวม ข้อเข่าข้างที่ฉีดยาจะหายไป และมักไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่อาจพบอาการปวด บวม แดง จากการฉีดยาได้ ซึ่งจะหายได้เอง หรืออาจใช้การประคบเย็นช่วย
ข้อห้ามในการฉีดน้ำหล่อลื่นข้อเข่าคือ
- มีการติดเชื้อที่ข้อเข่าที่จะฉีดยามาก่อน
- เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดยา
- ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในระยะรุนแรงฉีด เพราะผลจากการรักษาจะออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- ผู้ที่เคยแพ้น้ำหล่อลื่นผิวข้อเทียมขึ้น แต่ในปัจจุบันน้ำหล่อลื่นข้อเทียมถูกพัฒนาจนใกล้เคียงกับน้ำหล่อลื่นข้อเข่าที่อยู่ในร่างกายอย่างมาก ร่างกายจึงไม่ต่อต้าน ทำให้พบการแพ้น้อยมาก
เมื่อได้รับการรักษาด้วยการฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าแล้ว จำเป็นจะต้องช่วยดูแลในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูหัวเข่า เพราะการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดน้ำหล่อลื่นข้อเข่าไม่ได้ทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมอยู่แล้ว เสื่อมน้อยลง แต่จะไปบรรเทาอาการของโรค ทำให้อาการของโรคดีขึ้นและสามารถใช้เข่าได้มากขึ้น หากยังมีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าแบบเดิม เมื่อน้ำหล่อลื่นข้อเข่าเทียมหมดฤทธิ์ อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมก็จะกลับมาอย่างเดิม การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจึงต้องทำร่วมกันหลายวิธี เพื่อให้ข้อเข่ายังคงใช้งานได้ ลดการอักเสบ และยืดเวลาที่ต้องผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมออกไป
- การฉีดยารักษาเข่าด้วยวิธี Prolotheraphy
Prolotherapy คือการบำบัดรักษาโดยการฉีดสารละลายที่มีคุณสมบัติระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในตำแหน่งที่มีอาการบาดเจ็บเพื่อกระตุ้นกระบวนการอักเสบอ่อน ๆ และกระตุ้นการหลั่ง Growth factor ทำให้เกิดการซ่อมแซมและเกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้น
สารเข้มข้นสูงที่ถูกใช้ใน prolotherapy มีหลายชนิด ได้แก่
- น้ำตาลเดกซ์โทรสความเข้มข้นสูง (hyperosmolar dextrose)
- สารฟีนอลกลีเซอรีนกลูโคส (phenol-glycerine-glucose)
- สารละลายเกลือมอร์รูเอทโซเดียม (morrhuate sodium)
โดยในปัจจุบัน hyperosmolar dextrose ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกว่าสารละลายชนิดอื่น โดยสามารถใช้วิธีการรักษาแบบ Prolotherapy ได้กับหลายโรค เช่น กลุ่มอาการที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น กลุ่มอาการจากการอักเสบหรือความเสื่อมข้อ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี Prolotherapy ด้วย Dextrose เข้มข้นคือ
- โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีการฉีดสเตียรอยด์ที่อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดนั้นมีโอกาสเปื่อยยุ่ยได้ เนื่องจาก Dextrose นั้นเป็นสารธรรมชาติ
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการฉีด
- มีการติดเชื้อบริเวณที่จะทำการฉีดยา
- ข้ออักเสบจากโรคเกาต์
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาลดการแข็งตัวของเลือด
โรคที่กล่าวมาไม่ควรใช้เลือกใช้การรักษาวิธีนี้ เนื่องจากจะกระตุ้นให้การอักเสบรุนแรงขึ้นได้ หรืออาจเกิดเลือดออกไม่หยุดหรือหยุดยากจากการฉีดยาได้
เมื่อพิจารณาเลือกวิธีการฉีดยาแบบ Prolotherapy ในการรักษาข้อเข่าเสื่อมแล้ว การเตรียมตัวก่อนรับฉีดยามีดังนี้
- ควรหยุดรับประทานยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากฤทธิ์ยาจะเข้าไปยับยั้งการอักเสบซึ่งขัดต่อการรักษาด้วยวิธี Prolotherapy
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินซีและโปรตีน เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารที่ใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่ออย่างเพียงพอ
การฉีดจะใช้กลูโคสฉีดกระตุ้นไปยังภายในข้อ และจุดติดของเส้นเอ็นต่าง ๆ รอบข้อเข่าที่มีการอักเสบเพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ทุก ๆ 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องประมาณ 3-5 ครั้ง ขึ้นกับอาการและการตอบสนองต่อการรักษา โดยการฉีดนั้นหากใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในการนำฉีด จะฉีดยาได้อย่างตรงจุด แม่นยำ ผลการรักษาจึงมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง
การดูแลหลังการฉีด Prolotherapy ด้วย Dextrose เข้มข้น
- หลังฉีดประมาณ 48-72 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการรักษาจะมีอาการปวดระบมจากการเกิดกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สามารถรับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือเรียกว่า พาราเซตามอล (Paracetamol) ได้ในขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง
- เลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- เลี่ยงการประคบเย็นเนื่องจากจะไปลดกระบวนการอักเสบอ่อน ๆ ที่ต้องการ
- อาการปวด บวม แดง และร้อน แต่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
นอกจากการรักษาด้วยการฉีดยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว การฉีดยารักษาข้อเข่าเสื่อมยังมีการฉีดเป็นอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ เช่น การฉีดยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์, การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma, PRP)
ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป สามารถทำงาน เรียนหนังสือ ซื้อของ ซื้ออาหาร ติดต่อสื่อสารผ่านทางอุปกรณ์ IT อย่างคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน หากเรามีพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวที่ไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม อาจทำให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยจากการทำงานตามมาได้ ซึ่งเรามักรู้จัก หรือเรียกกันว่ากลุ่มอาการ Office syndrome
ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และบางรายอาจมีอาการปวดหลัง ปวดเอวได้
แต่สามารถพบอาการอื่นนอกเหนือจากอาการปวดกล้ามเนื้อได้ เช่น ปวดข้อมือ เอ็นข้อศอกอักเสบ เอ็นข้อมืออักเสบ ผังพืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เป็นต้น
ส่วนอาการปวดกล้ามเนื้อจากการก้มใช้โทรศัพท์นาน ๆ บางครั้งก็ใช้ศัพท์เรียกว่า Text neck syndrome
ในกรณีที่เริ่มมีอาการปวด จากการทำงาน และสงสัยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ Office syndrome การดูแลตัวเองเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้ คือ
การปรับสภาพแวดล้อม และที่ทำงานให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์
- การจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ ของที่จำเป็นต้องใช้ จัดให้อยู่ในระยะเอื้อมของมือทั้งสองข้าง
- โต๊ะ และเก้าอี้ทำงานมีความสูงพอดี เก้าอี้ทำงานปรับระดับให้เหมาะสมได้ และอาจมีที่ดันหลังเพื่อให้หลังอยู่ในท่าธรรมชาติมากที่สุดระหว่างนั่งทำงาน
- ปรับจอมอนิเตอร์ให้อยู่ระยะที่เหมาะสม ไม่ไกล หรือใกล้สายตาเกินไป ขอบบนของจออยู่ในระดับสายตาพอดี หน้าจอเอียงรับระดับสายตาประมาณ 7 องศา
- โต๊ะทำงานมีชั้นแยกสำหรับวางแป้นพิมพ์และเมาส์ ในกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้ใช้แป้นพิมพ์ได้อย่างสบายไม่ต้องเกร็งหรือยกไหล่
- แสงสว่างที่โต๊ะทำงานเหมาะสม เพื่อลดการเพ่งของดวงตา
การปรับพฤติกรรมการทำงานให้เหมาะสม
- ท่านั่งที่เหมาะสม ตัวตรงไม่เอียงไปด้านใด ด้านหนึ่ง เท้าสองข้างวางแนบพื้น เข่า สะโพกศอกงอประมาณ 90 องศา หัวไหล่ผ่อนคลาย
- มีช่วงพักเบรกเป็นระยะ ควรพักอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อพักสายตา ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ รวมทั้งพักยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเองเป็นระยะ ๆ
กรณีที่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ปรับสภาพแวดล้อม โต๊ะ เก้าอี้ทำงาน แล้วไม่ดีขึ้น หรือ อาการปวดรบกวนมากจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น
- การรักษาด้วยยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคล้ายกล้ามเนื้อ ยานวดลดปวด เป็นต้น
- การรักษาทางกายภาพบำบัด
- การใช้เครื่องมือทางกายภาพ การลดปวดด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ การลดปวดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (repetitive peripheral magnetic stimulation, rPMS) การยืดกล้ามเนื้อ การฝั่งเข็มลดปวดคลายกล้ามเนื้อ (Dry needling)
- การรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น นวดแผนไทย การนวดประคบ เป็นต้น
เป็นกลุ่มอาการที่มักพบได้บ่อยในวัยทำงาน ที่ต้องใช้มือและข้อมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงมือมาก งานที่มีแรงสั่น สะเทือนมาที่มือมาก เช่นงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เครื่องเจาะ งานที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่าง เช่น ไขควง
สว่าน หรือแม้กระทั้งบางครั้ง การทำงานบ้านเองก็มีโอกาสเกิดอาการพังพืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้
ลักษณะอาการเด่น ๆ ที่ทำให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ คือ
- อาการปวดข้อมือ ส่วนมากมักมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานมือมาก ๆ มีการทำงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้นลงบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เช่น การบิดไขควง การบิดผ้า
- บางครั้งอาการปวดอาจมีมากขึ้นเวลานอนหลับ ทำให้บางคนต้องตื่นมาสะบัดมือกลางดึกเพื่อให้อาการปวด อาการชาลดน้อยลง
- อาการชาบริเวณนิ้วมือ ซึ่งปกติจะรู้สึกชาที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถแยกได้ รู้สึกชาปลายนิ้วทุกนิ้วได้
กรณีที่มีอาการดังกล่าว สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้ คือ
- บริหารมืองดการทำงานที่ต้องใช้มือมาก ๆ ใช้แรงมือบีบแน่น ๆ กระดกข้อมือบ่อย ๆ
- แช่มือในน้ำอุ่นให้ลึกถึงข้อมือ ประมาณ10-20 นาที วันละประมาณ 1-2 ครั้ง เช้า เย็น
- บริหารมือ
การบริหารแบบที่ 1
เป็นท่าบริหารมือที่ทำเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่วิ่งผ่านอุโมงค์ข้อมือ (Carpal tunnel) เพื่อลดการยึดเกาะบริเวณข้อมือ
การบริหารแบบที่ 2
เป็นท่าในการบริหารที่ทำเพื่อขยับเส้นเอ็นของนิ้วมือที่วิ่งผ่านอุโมงค์ข้อมือเพื่อลดการยึดเกาะ
โดยเริ่มจากการแบมือ เหยียดนิ้วและข้อมือในท่าตรง แล้วทำท่าบริหารตามลำดับ โดยระหว่างที่ทำการบริหาร ให้ข้อมืออยู่ในท่าตรงอยู่ตลอด ไม่งอหรือกระดกข้อมือระหว่างทำการบริหาร
หากทดลองปฏิบัติแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ พบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวด อาการชาที่รุนแรง รบกวนการทำงาน และการดำรงชีวิต แนะนำให้มาพบแพทย์เนื่องจากอาการปวดและชามือนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม ต่อไป
ในกรณีที่ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก การรักษาด้วยการทานยา และการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น
- การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าrepetitive peripheral magnetic stimulation/ rPMS เพื่อลดอาการปวด การอักเสบ และช่วยให้เส้นประสาทซ่อมแซม ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
- การใช้ความร้อนลึกจากอัลตราซาวนด์เพื่อลดอาการปวด การอักเสบ
- การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณอุโมงค์ข้อมือเพื่อลดการอักเสบ (แต่นิยมรักษาด้วยวิธีอื่นก่อนเนื่องจากมีข้อจำกัดในจำนวนครั้งที่ฉีดได้)
- การใช้อุปกรณ์ประคองข้อมือ(wrist support) เพื่อให้ข้อมือได้พักช่วยให้ฟื้นฟูได้ไวขึ้น ลดโอกาสเกิดการอักเสบเพิ่มเติมจากการใช้งานได้
เป็นการรักษาที่สามารถลดอาการปวด ลดการอักเสบของเส้นประสาท ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ลดโอกาสในการรักษาด้วยการผ่าตัดได้
ลูกแค่ซนหรือสมาธิสั้น
หลายคนอาจเคยได้รับข้อมูลจากคุณครูเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกที่โรงเรียน แล้วทำให้เกิดความลังเลใจ ว่าลูกซนมาก หรือสมาธิไม่ดี จนเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นจริงหรือไม่ ลองมารู้จักกับอาการของโรคสมาธิสั้นกัน
โรคสมาธิสั้นมีอาการดังต่อไปนี้
- กลุ่มอาการขาดสมาธิ :
-ไม่สามารถคงความสนใจหรือจดจ่อกับกิจกรรมที่กระทำอยู่ได้ตามสมควรกับอายุหรือระดับพัฒนาการ
-มักถูกสิ่งเร้าต่าง ๆ ดึงดูดความสนใจได้ง่าย
-เหม่อลอย
-ไม่สามารถสนใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูดด้วยอย่างตั้งใจ
-ไม่จดจ่อกับรายละเอียดในการทำกิจกรรมต่างๆให้เป็นระบบ
-เด็กมักไม่สามารถวางแผนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเมื่อวางแผนแล้วก็มักไม่สามารถทำตามแผนได้
- กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง :
-มีพฤติกรรมซนมาก อยู่ไม่นิ่ง และเคลื่อนไหวมากเกินปกติเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยหรือระดับพัฒนาการเดียวกัน มักชอบเล่นปีนป่ายโลดโผน
-ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องอยู่กับที่หรือต้องการความสงบร่วมกับผู้อื่นได้
- กลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น :
-มักพูดหรือกระทำที่เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันทีทันใดโดยไม่ยั้งคิดถึงผลที่จะตามมา
-ใจร้อน รอตามลำดับไม่ได้ มักมีปัญหาในการเล่นตามกฎกติกาหรือการทำงานที่ต้องร่วมมือกับคนอื่น (จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี,2558)
เด็กที่เป็นสมาธิสั้นมักมีอาการดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด แต่ในบางคนอาจ มีอาการขาดสมาธิโดยไม่ซน หรือบางคนอาจซนหุนหันพลันแล่นโดยขาดสมาธิไม่มากก็ได้
การดูแลรักษาโรคสมาธิสั้น
ต้องใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก ร่วมกับการปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องและปรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้ปกครองและครู ในการประคับประคองให้เด็กปรับตัวได้ดีขึ้นจนสามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อโตขึ้น
โรคสมาธิสั้นหากไม่รักษา อาจทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสัมพันธภาพ ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวในอนาคตได้
เล็บขบ(Ingrown nail)
เล็บขบเกิดจากการงอกของขอบเล็บงอกเบียดฝังเข้าไปยังเนื้อข้างเล็บ ทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดงอักเสบ บางครั้งอาจมีการอักเสบติดเชื้อได้ มักพบได้บ่อยที่นิ้วหัวแม่เท้า สาเหตุอาจเกิดจากการเลือกใส่รองเท้าที่คับจนเกินไป หรือการตัดเล็บที่ไม่ถูกวิธี
การตัดเล็บเท้า ถ้าตัดตามความโค้งของเล็บ จะทำให้เล็บที่งอกใหม่ยาวขึ้นมาและไปเบียดฝังเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเล็บ จะทำให้เกิดเล็บขบได้
อาการเล็บขบ
อาการในช่วงแรกเนื้อเยื่อด้านข้างเล็บจะมีลักษณะ บวม แข็ง กดเจ็บ และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจะมีอาการบวมแดงและเป็นหนองได้
การป้องกัน
ควรตัดเล็บเท้าให้ตรง เลยเนื้อเยื่อด้านข้างเล็บออกมา ไม่ตัดเล็บโค้งเข้าไปจนชิดเนื้อเยื่อข้างเล็บ รวมทั้งการเลือกใส่รองเท้าที่ขนาดพอดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป รักษาความสะอาดของเท้าอยู่เสมอ
การรักษา
1. กรณีเล็บขบยังไม่มีการติดเชื้อแบคที่เรียแทรกซ้อน แนะนำให้รักษาความสะอาดบริเวณซอกเล็บ ใส่รองเท้าที่ไม่รัดบริเวณนิ้วเท้า ถ้าเป็นไปได้เลือกใช้รองเท้าแตะช่วงที่มีการอักเสบ ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด ลดการอักเสบ
2. กรณีที่มีการอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นหนอง แนะนำทำการถอดเล็บบางส่วน(partial nail extraction) และรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
นพ.วรพจน์ ชีวีวัฒน์
สบายดีคลินิกเวชกรรม
ซอย 36 หมู่บ้านสหกรณ์ ถ.เสรีไทย 57 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม.
การลงเข็มแบบ Dry Needling นั้นมีความแตกต่างจากการฝังเข็มแผนจีน (Traditional Chinese medicine)
การฝังเข็มวิธี Dry Needling นั้น เน้นเทคนิคการฝังเข็มไปที่บริเวณกล้ามเนื้อจุดที่มีอาการปวดหรือจุดกระตุ้น(Trigger point) เป็นหลัก และมีการขยับเข็มไปมาหลายทิศทางเพื่อช่วยในการลดปวดคล้ายกล้ามเนื้อ โดยไม่มีการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมด้วย
ต่างจากการฝังเข็มแบบแพทย์แผนจีนที่มีทั้งการฝังตามแนวเส้นลมปราณ นอกเส้นลมปราณ จุดเจ็บ และอาจมีการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมด้วย
โรคที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มDry needling คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (myofascial pain syndrome) ซึ่งเรามักรู้จักและเรียกกันว่า ออฟฟิต ซินโดรม
โดยกลไกการลดอาการปวดนั้นมีหลายทฤษฎี เช่น เป็นการทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อย บริเวณกล้ามเนื้อที่มีการฝังเข็มทำให้ร่างกายกระตุ้นการซ่อมแซม กระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ฝังเข็มมากขึ้น เป็นต้น
หากสงสัยหรือต้องการปรึกษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Call: 0948853339
การฉีดยาเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ในผู้ป่วยโรคไหล่ติด
โรคข้อไหล่ติด (adhesive capsulitis หรือ frozen shoulder) เป็นปัญหาที่สำคัญในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี โดยอาการปวดไหล่ และพิสัยการเคลื่อนไหวข้อที่ลดลง มีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเอื้อมหยิบสิ่งของ การติดตะขอเสื้อชั้นในด้านหลัง การหวีผม ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก
โรคข้อไหล่ติดอาจหายได้เองแต่ใช้เวลานาน 2-3 ปี โดยร้อยละ 50 ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดไหล่ และร้อยละ 30 มีพิสัยเคลื่อนไหวข้อไหล่น้อยกว่าข้างปกติ
ข้อไหล่ติดมีการรักษาหลายวิธี โดยทั่วไปเริ่มด้วย
- ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ
- การทำกายภาพบำบัด
- การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่เข้าข้อไหล่ (intraarticular steroid injections)
- การฉีดสารน้ำเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ (hydrodilatation or arthographic distension)
- การดมยาสลบเพื่อดัดข้อไหล่ (manipulation under general anesthesia)
- การส่องกล้องเพื่อตัดเนื้อเยื่อที่ยึดข้อไหล่ (arthroscopic capsulotomy)
ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการใช้อัลตร้าซาวนด์ช่วยนำการฉีดสารน้ำและยาสเตียรอยด์เพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ (ultrasound guided hydrodilation with corticosteroid injection) มากขึ้น ทั้งนี้การใช้อัลตราซาวนด์ทำให้เห็นตำแหน่งเข็ม และเพิ่มประสิทธิภาพในการฉีดยาได้แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะข้อที่มีพยาธิสภาพตีบแคบ
การฉีดยาเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่เหมาะกับผู้ป่วยทุกคนหรือไม่
เทคนิคนี้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือนแล้วอาการไม่ทุเลา ร่วมกับมีพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ทั้งแบบขยับเองและช่วยขยับลดลงอย่างน้อย 30 องศา มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ทิศทางการเคลื่อนไห มีระดับความปวดปานกลางขึ้นไป โดยจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีข้อไหล่ติดในระยะที่ 2 ซึ่งมีอาการปวดมากและไหล่ติดมาก
ผู้ป่วยรายใดที่การฉีดยาขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่อาจได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
ในกรณีที่ข้อไหล่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ เช่น เอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฉีกขาด (rotator cuff tear), เส้นเอ็นอักเสบ, ถุงน้ำใต้กล้ามเนื้อ อักเสบ (Bursitis) เป็นต้น ต้องได้รับการรักษาความผิดปกติดังกล่าวร่วมด้วยเพื่อผลการรักษาที่ดี
มีภาวะข้อไหล่ติดยึดโดยเกิดจากพยาธิสภาพอื่นนำมาก่อน (secondary frozen shoulder) เช่น การอักเสบหรือติดเชื้อที่ข้อไหล่, กระดูกหัก, โรคหลอดเลือดสมองที่แขนอ่อนแรง และข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
ฉีดยาเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ด้วยวิธีใด
การฉีดยาเข้าเยื่อหุ้มข้อไหล่ผ่านการนำฉีดด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อความแม่นยำในการฉีดเข้าข้อไหล่โดยตรง โดยการฉีดสารน้ำที่ประกอบด้วย น้ำเกลือ ยาชา และยาสเตียรอยด์ เพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ โดยหลังผสมยาแล้วปริมาณยาที่ฉีดจะประมาณ 20 มิลลิลิตร เป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการขยายข้อไหล่ และไม่มากเกินจนอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื้อหุ้มข้อไหล่
การปฏิบัติตัวหลังการฉีดยาเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่
การฉีดยาจะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อไหล่ได้ผลดี แต่หลังการฉีดยาแล้วผู้ป่วยควรทำการบริหารข้อไหล่ต่อเนื่องเองที่บ้าน หรือทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องจากที่เคยทำประจำ เพราะการฉีดยาจะทำให้ทนต่อการทำกายภาพบำบัดได้ดีขึ้น ไม่ปวดมาก ทำให้การเพิ่มพิสัยข้อไหล่ไปได้เร็วและไวขึ้น ลดความถี่ และระยะเวลาในการทำกายภาพบำบัด ทำให้หายเร็วขึ้นได้